ตำรวจภาค 4 รวบตัวแก๊งค์วายร้ายแฮกเฟชบุ๊คหลอกโอนเงินมีผู้เสียหายทั่วประเทศ ตกเป็นเหยื่อนับหมื่น เงินหมุนเวียนกว่า 14 ล้านบาท

               เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2563 เวลา 10.00 น พล.ต.ท.เจริญวิทย์ ศรีวนิชย์ ผบช.ภ.4 พล.ต.ต.ยรรยง เวชโอสถ รอง ผบช.ภ4 พล.ต.ต.สุภากร คำสิงห์นอก รอง ผบช.ภ4 พล.ต.ต.พรหมณัฏฐเขต ฮามคำไพ รอง ผบช.ภ4 พล.ต.ต.สายเพชร ศรีสังข์ รอง ผบช.ภ.4, พล.ต.ต.ภาณุ บูรณะศิริ รอง ผบช.ฯ ปรก.ภ.4,พล.ต.ต.มาโนช สุภาพพูล ผบก.สส.ภ.4 พล.ต.ต.อรรคพงศ์ พิมลศรี ผบก.ภ.จว.มุกดาหาร พ.ต.อ.กิตติพงษ์ จิตรคาม ผกก.สืบสวน 3 บก.สส.ภ.4 พ.ต.อ.ณัฐนนท์ ประชุม รอง ผบก.สส.ภ.4 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.สืบสวน 3 บก.สส.ภ.4 ร่วมแถลงข่าวผลงานการจับกุมผู้ต้องหาของศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลอาชญากรรม กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 4 โดยมีการจับกุมผู้ต้องหา "แก๊งค์ Hack Facebook หลอกโอนเงิน " ซึ่งมีผู้ต้องหา 3 ราย คือนายกนกพล ชนะสัตย์ อายุ 25 ปี นายเอกลักษณ์ ชนะสัตย์ อายุ 22 ปี ชาว ต.อ่าวลึกใต้ อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ ตามหมายจับศาลจังหวัดมุกดาหารที่ 63/2563และ 65/2563 ลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 ตามลำดับ และนายพีรพรรษ รักศักดิ์เสถียร อายุ 21 ปี ชาว ต.ในเมือง อ.เมืองนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช ตามหมายจับศาลจังหวัดมุกดาหารที่ 64/2563 ลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่นโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนและผู้อื่น

                พล.ต.ท.เจริญวิทย์ ศรีวนิชย์ แถลงข่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้มี น.ส.อาภัสสร กลางประพันธ์ น.ส.ณัฏฐ์ภิญญา คำปาน น.ส.พรทิพย์ จันทรโคตร ผู้เสียหายเข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.เมืองมุกดาหาร แจ้งว่า ได้มีผู้ใช้เฟชบุ๊ค ชื่อ Klinjun Ramangkool ซึ่งเป็นเพื่อนกันแชทมายืมเงินชื่อบัญชีนางแสงไว พรหมรักษ์ มาให้ผู้เสียหายแต่เมื่อโอนไปแล้วโทรศัพท์ถามปรากฏว่าเพื่อนไม่ได้โพสเพื่อขอยืมเงินแต่อย่างใด จึงเชื่อว่าถูกแฮกเฟชบุ๊คเพื่อหลอกยืมเงิน จึงมาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับคนร้ายที่ก่อเหตุในครั้งนี้

            ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.สืบสวน 3 บก.สส.ภ.4 จึงได้สืบสวนจนทราบว่าผู้ที่ปลอมเฟชบุ๊คและหลอกให้เงินคือนายเอกลักษณ์ ชนะสัตย์ โดยวิธีการใช้เบอร์โทรศัพท์จาก Google แล้วนำเบอร์โทรศัพท์ไปล็อกอินท์ที่หน้าเฟชบุ๊ค โดยรหัสผ่านจะสุ่มจากหมายเลขโทรศัพท์ จากนั้นเมื่อเข้าบัญชีเฟชบุ๊คของผู้เสียหายแล้ว ก็แชทเข้าไปหลอกเพื่อนของเจ้าของเฟส
          โดยแสดงตนว่าเป็นผู้เสียหาย ขอยืมเงินซึ่งผู้ที่ตกเป็นเหยื่อส่วนใหญ่จะเชื่อใจว่าเป็นเพื่อน จึงมีการโอนเงินเข้าบัญชีที่นายเอกลักษณ์จัดเตรียมบัญชีปลายทางไว้ ซึ่งมีการโอนเงินเมื่อเงินเข้าบัญชี ก็ให้เจ้าของบัญชีถอนเงินสดไปซื้อบัตรเติมเงินสดทรูวอลเล็ท แล้วถ่ายรูปส่งไปให้นายเอกลักษณ์ จากนั้นก็นำไปเติมเงินเข้าบัญชีทรูมันนี่วอลเล็ทที่นายกนกพล ชนะสัตย์ เป็นผู้ถือบัญชี แล้วโอนเงินเข้าบัญชีของนายกนกพล และนายพีรพรรษ จากนั้นจึงมีการถอนเงินสดออกไปแบ่งกัน

            จากการสืบสวนของเจ้าพนักงานตำรวจยังพบว่ามีผู้เสียหายตกเป็นเหยื่อของแก๊งนี้อีกหลายรายทั่วประเทศ มีมูลค่าความเสียหายจำนวนมาก มีเงินหมุนเวียนในบัญชีของทั้ง 3 คน 14,700,000 บาท จากการตรวจสอบประวัติการเข้าไปแฮกเฟชบุ๊คประวัติการทำงานของบราวน์เซอร์ Chrome ภายในเครื่องคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คของนายเอกลักษณ์ ที่ตรวจยึดไว้เป็นของกลาง พบประวัติการแฮกเฟชบุ๊คจำนวน 22,869 ครั้ง โดยก่อนหน้านี้นายเอกลักษณ์ยังมีประวัติเคยถูกจับกุมดำเนินคดีลักษณะเดียวกันนี้เมื่อเดือนมกราคม 2563 ซึ่งอยู่ระหว่างประกันตัว

          พล.ต.ท.เจริญวิทย์ ยังกล่าวอีกว่า จากประวัติและข้อมูลที่พบ ยังมีผู้เสียหายทั่วประเทศ หากคนใดสงสัยว่าเป็นเหยื่อของแก๊งนี้ ให้แจ้งความร้องทุกข์ได้ที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน เพื่อที่จะได้ดำเนินคดีกับกลุ่มนี้ ทั้งนี้ก็ขอให้ได้ใช้ความระมัดระวัง เมื่อมีการทักแชทขอยืมเงิน เพราะแม้ว่าจะสามารถจับกุมแก๊งนี้ได้ ก็จะยังมีกลุ่มบุคคลอื่นที่ยังคงกระทำเช่นนี้อีก            ซึ่งการกระทำของบุคคลดังกล่าวมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 " ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนหรือด้วยการปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ " และยังผิดตามพรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ในมาตรา 5 " เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ " มาตรา 7 " ผ่านรหัสหรือระบบป้องกันเข้าระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ " มาตรา14(1) วรรคสอง" ฉ้อโกงประชาชนผ่านระบบคอมพิวเตอร์หรือนำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้ จำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ"